🏖️หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามโครงาร Ethereum อยู่บ้าง ยังไงก็คงต้องเคยได้ยินเกี่ยวกับ Ethereum 2.0 กันมาแล้วว่ามันคืออะไร แล้วต่างจาก Ethereum แบบเดิมยังไงบ้าง แต่เดี๋ยววันนี้ PubBit จะมาเล่าให้ฟังกันแบบสั้น ๆ 5 หน้าจบ!!!
🏖️Ethereum เคยเป็นบล็อกเชนที่ใช้ PoW ในการยืนยันธุรกรรม แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Ethereum 2.0 แล้ว ที่ใช้ PoS ในการยืนยันธุรกรรมแทน
🏖️สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาบล็อกเชนอย่างจริงจัง การอธิบายเพียงเท่านี้ก็อาจทิ้งข้อสงสัยไว้ได้มากมาย เท่าที่เคยได้ยินมาก็อย่างเช่นว่า ETH จะมีเหรียญใหม่หรือเปล่า? ตอนนี้ Ethereum มี 2 บล็อกเชนใช่ไหม? และ Ethereum 2.0 ดีกว่า 1.0 ใช่หรือไม่? แต่ไม่ต้องกังวลไป เดี๋ยววันนี้เรามาไขข้อข้องใจต่าง ๆ และเรียนรู้บล็อกเชน Ethereum แบบอัปเดตล่าสุดให้กระจ่างกัน!!!
🌠Ethereum (1.0) คืออะไร
🏖️Ethereum คือแพลตฟอร์มบล็อกเชนแบบ Decentralized และ Open-source ที่เปิดตัวตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2015 โดยโปรแกรมเมอร์สัญชาติแคนาดา-รัสเซียอย่าง Vitalik Buterin
🏖️Ethereum ถือเป็นบล็อกเชนและเหรียญคริปโตฯ เจ้าแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีสมาร์ทคอนแทรคเข้ามาใช้งานบนบล็อกเชน ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมวงการครั้งใหญ่ของเทคโนโลยีบล็อกเชน
🏖️สมาร์ทคอนแทรคช่วยให้โปรแกรมเมอร์จากทั่วทุกมุมโลกสามารถใช้บล็อกเชนในการสร้าง Decentralized applications (DApps) ขึ้นมามากมาย จนทำให้ในปัจจุบัน Ethereum มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับคริปโตฯ เกิดขึ้นมากที่สุด อย่างเช่น NFT GameFi หรือแม้กระทั่งโทเคนแบบใหม่อย่าง SBT
🌠Ethereum (2.0) คืออะไร
🏖️สำหรับผู้ที่ใช้งาน dApps อยู่แล้ว คงอาจเคยเห็นว่าบางทีตัวแอปพลิเคชันมีแจ้งเตือนให้กดอัปเดตก่อนใช้งาน แล้วพออัปเดตเสร็จ คุณก็จะพบกับฟีเจอร์ใหม่ ๆ หรือ UI ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าและใช้งานง่ายยิ่งขึ้น
🏖️Ethereum 2.0 ก็เช่นกัน ที่เป็นเหมือนการอัปเดต และถูกเรียกด้วยชื่อย่อใหม่ว่า ETH2 หรือ Serenity นั่นเอง ผู้คนที่เคยได้ยินข่าวนี้เป็นครั้งแรกอาจเข้าใจผิดกัน แต่ยืนยันได้เลยว่า Ethereum 2.0 ‘ไม่ใช่บล็อกเชนใหม่’ มันเป็นเพียงแค่อัปเดตที่เปลี่ยนแปลงกลไกการทำงานเบื้องหลังของระบบครั้งใหญ่เท่านั้น
🏖️ในมุมมองของนักลงทุนก็เลยไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเท่าไหร่ เพราะเหรียญ ETH ที่มีอยู่ก็จะยังอยู่ในกระเป๋า และอยู่บนบล็อกเชนดังเดิม
🏖️อัปเดตนี้เป็นการปรับเปลี่ยนโมเดลคอนเซนซัสจาก Proof of work ให้กลายเป็น Proof of stake อย่างเต็มตัว ผ่านเหตุการณ์ที่ชื่อว่า The Merge ซึ่งจะช่วยให้ Ethereum ตามทันบล็อกเชนใหม่ ๆ ที่เปิดตัวภายหลังอย่าง Cardano, Polkadot, และ Solana ที่ใช้ระบบ PoS กันอยู่แล้วตั้งแต่เปิดตัว
🌠Ethereum (2.0) คืออะไร
🏖️การปรับเปลี่ยนเป็น PoS ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่เป็นแผน Roadmap ที่วางเอาไว้ตังนานแล้วเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเหล่านี้
🏖️1. ความปลอดภัย
Ethereum ตั้งใจให้แพลตฟอร์มมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นทั้งสำหรับนักลงทุนและนักพัฒนา ในอดีต เราเห็นการโจมตีบล็อกเชนอยู่บ่อยครั้งจนทำให้ผู้คนต้องสูญเสียเงินของตนเองไป การเปลี่ยนมาใช้ระบบ PoS อย่างน้อยก็อาจช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีได้บ้าง หากว่ากันในทางทฤษฎี
🏖️2.การเพิ่มความเร็วและรองรับการขยายตัว (Scalability)
อย่างที่ได้บอกไปว่า Ethereum มี dApps และ DeFi ที่สร้างอยู่บนบล็อกเชนเป็นจำนวนมาก จากสถิติแล้ว dApps 80% จากทั้งหมดก็ออนไลน์อยู่บนเชน Ethereum ส่วนฝั่ง NFT ก็มีถึง 90% สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวบล็อกเชนมีธุรกรรมที่หนาแน่นตลอดเวลา
แต่ Ethereum แบบเก่ารองรับได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ใช้ต้องเจอกับค่าแก๊สสุดแพง รวมไปถึงการที่ต้องรอนาน ๆ อย่างในช่วงปีก่อน ๆ ดังนั้น Ethereum จึงต้องแก้ปัญหานี้ด้วย
🏖️3. ความยั่งยื่น
ทำให้บล็อกเชนใช้พลังงานน้อยลง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็น PoW เราต้องใช้ไฟ้าในการขุดบล็อก ทำให้สูญเสียพลังงานมหาศาลในทุก ๆ วัน แต่กับ PoS เราใช้เพียงเหรียญคริปโตในการสเตกเพื่อตรวจสอบบล็อก ทำให้ไม่สูญเสียพลังงาน และมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
🌠Proof of Work vs. Proof of Stake (PoW vs PoS)
🏖️คริปโตฯ และบล็อกเชนมีความ Decentralized ไม่เหมือนกับธนาคาร ดังนั้นจึงหมายความว่าทุกบล็อกเชนจำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบธุรกรรมให้ถูกต้องก่อนที่จะทำการยืนยัน ซึงตรงนี้นี่เองที่เป็นที่มาของการขุดบล็อกแบบเข้ารหัส
🏖️ทั้ง PoW และ PoS ต่างก็นับเป็นกลไกการขุดคริปโตฯ แบบเฉพาะของตัวเองที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบหาธุรกรรมที่ถูกต้องเหมือนกัน
🏖️ในระบบ PoW ผู้ใช้ต่าง ๆ ในระบบที่อยู่รอบโลก (นักขุด) จะต้องแข่งกันแก้ปัญหาด้านอัลกอริทึมสุดซับซ้อน และในทุก ๆ ครั้งที่แก้อัลกอริทึมได้ บล็อกใหม่ก็จะถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชน บล็อกเหล่านี้เต็มไปด้วยประวัติธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และจะถูกบันทึกไว้ตลอดไป ส่วนนักขุดที่เป็นคนแก้ปัญหาได้ก็จะได้รับรางวัลเป็นเหรียญคริปโตฯ ของบล็อกเชนนั้น ๆ ปัญหาของระบบนี้มีเพียงแค่ว่าต้องใช้อุปกรณ์ประมวลผลราคาแพง แถมยังใช้พลังงานไฟฟ้าสูง
🏖️ในระบบ PoS จะไม่จำเป็นต้องใช้นักขุดในการแก้สมการที่ยุ่งยาก แต่จะมีผู้ใช้ที่คอยสเตกเงิน (ล็อคเหรียญไว้บนบล็อกเชน เหมือนกับใช้เงินเป็นหลักประกัน) เพื่อแลกกับการมีสิทธิในการตรวจสอบบล็อก ดังนั้น ระบบจึงสามารถตรวจสอบบล็อกและธุรกรรมได้โดยไม่ต้องใช้พลังในการประมวลผลเลย และเมื่อบล็อกถูกสร้างใหม่ ผู้ที่สเตกเงินทิ้งไว้ก็จะได้รับรางวัลเหรียญเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
🌠ความแตกต่างระหว่าง Ethereum 1.0 vs Ethereum 2.0
🏖️ 1.การเปลี่ยนแปลงของคอนเซนซัส
ตั้งแต่เปลี่ยนระบบมาตอนปลายปี 2022 ผู้สเตกเหรียญ (ผู้ตรวจสอบ) จะได้รับความเชื่อใจให้คอยตรวจสอบและแฮชบล็อกใหม่บน Ethereum โดยการที่จะเป็นผู้ตรวจสอบเต็มตัวได้นั้น ผู้ใช้จะต้องสเตกเหรียญอย่างน้อย 32 ETH
ในด้านการป้องกันระบบ ผู้สเตกที่ถูกจับได้ว่าไปยอมรับธุรกรรมที่แปลกปลอมก็จะถูกริบเงินสเตก เรียกอีกอย่างว่าการสแลช (Slashing)
PoS ยังช่วยให้ Ethereum มีความ Decentralized มากขึ้นด้วย เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องขุดราคาแพงอีกต่อไป แค่เพียงมี ETH ติดกระเป๋าสักหน่อยก็สามารถกลายเป็นผู้ตรวจสอบ คอยร่วมดูแลบล็อกเชนเพื่อแลกกับรางวัลตอบแทนได้เหมือนกัน แถมยิ่งผู้สเตกเยอะ ก็หมายความว่าระบบจะยิ่ง Decentralized มากขึ้นเรื่อย ๆ อีก
🏖️2. การแบ่งชาร์ด
การแบ่งชาร์ด (Sharding) เป็นอีกเทคโนโลยีสุดล้ำในวงการโปรแกรมมิ่ง ด้วยการแบ่งข้อมูลไปทำงานพร้อมกันในหลาย ๆ เครื่อง จนทำให้สามารถเพิ่มความเร็วของเครือข่ายได้อย่างมหาศาล และในกรณีของ Ethereum ทางทีมงานได้วางแผนไว้ว่าจะแบ่งชาร์ดของบล็อกเชนออกย่อยมาถึง 64 ชาร์ด
แต่ละชาร์ดก็คือบล็อกเชนใหม่ที่จะเชื่อมต่อกับบล็อกเชน Ethereum หลักและสื่อสารถึงกันได้ และทุกชาร์ดก็จะทำงานแบบเดียวกันหมด เว้นแต่เรื่องของ Workload ที่อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละชาร์ด
การแบ่งชาร์ดจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความเร็วและการรองรับการขยายตัวของ Ethereum ได้โดยตรง ซึ่งจำนวน TPS จากเพียงแค่ 15 ธุรกรรมต่อวินาทีคาดว่าจะถูกเพิ่มขึ้นขึ้นจนสูงถึง 100,000 TPS บน Ethereum 2.0 เวอร์ชันสมบูรณ์
ถ้าเอาให้เห็นภาพง่าย ๆ ให้เปรียบ Ethereum เป็นเหมือนทางด่วนที่มีถนนเลนเดียว แต่พอมีการอัปเกรด 2.0 ขึ้น ถนนได้ถูกสร้างเพิ่มขึ้นมาอีก 63 เส้นต่อกัน ไปในทางเดียวกัน ซึ่งช่วยทำให้การจราจรราบรื่นขึ้น และเร่งความเร็วได้มากขึ้นกว่าเดิม
🏖️3. Beacon chain
ถนน 64 เลนก็ต้องมีอะไรที่คอยทำหน้าที่เชื่อมต่อทั้งหมดเข้าด้วยกันอยู่แล้ว จริงไหม? นี่จึงเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า Beacon Chain ที่ถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่สุดเพื่อแยกระหว่าง ETH กับ ETH 2.0
ชาร์ดทั้งหมด 64 ชาร์ดจะเชื่อมต่อเข้ากับบล็อกเชนหลักเพียงหนึ่งเดียว (Beacon chain) ซึ่งจะคอยควบคุมชาร์ดทั้งหมดและเป็นผู้อนุมัติธุรกรรมแต่เพียงผู้เดียว บล็อกเชนศูนย์กลางนี้ถือเป็นหัวใจของ Ethereum 2.0
Beacon chain ยังมีหน้าที่คอยสอดส่องดูแลผู้สเตก (ผู้ตรวจสอบ) คอยลงโทษสแลชเงินผู้ตรวจสอบหากทำผิด และยังเป็นผู้กำหนดการสุ่มเลือกผู้ตรวจสอบคนใหม่ในรอบต่อ ๆ ไปอีกด้วย
🌠สรุปส่งท้าย
🏖️Ethereum 2.0 นับว่าเป็นการก้าวเดินที่ถูกทางแล้ว อัปเดตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ล้วนแต่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเชนและทำให้เชนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เหรียญ ETH จึงคาดว่าน่าจะไปต่อได้ในระยะยาว หลังจากนี้ ทุกคนก็ควรจับตาดูการอัปเกรดต่าง ๆ ต่อไปให้ดี ว่าเขาได้พัฒนาอะไรมาแก้ไขปัญหาที่ยังคงค้างคาอยู่บ้าง